ประวัติสาขาวิชาดนตรีไทย

ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี


การศึกษาระดับปริญญาวิทยาลัยนาฏศิลปได้เข้าสมทบในคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518 และรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2519 เป็นต้นไป ต่อมาใน พ.ศ. 2532 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ต่อมาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ เป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ ร.น.อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
ในสมัยนั้นได้จัดการศึกษาระดับปริญญาวิทยาลัยนาฏศิลปเข้าสมทบในคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเปิดการเรียนการสอนใน พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ แบ่งออกเป็น 4 ภาควิชา คือ ภาควิชาการแสดง ภาควิชานาฏศิลป์ ภาควิชาดุริยางค์ และภาควิชานาฏดุริยางค์คีตศิลป์ศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางค์คีตศิลป์ศึกษา เเบ่งออกเป็น 6 สาขาวิชา คือ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย สาขาวิชานาฏศิลป์สากล สาขาวิชาดุริยางค์ไทย สาขาวิชาดุริยางค์สากล สาขาวิชาคีตศิลป์ไทย และสาขาวิชาคีตศิลป์สากล เเละในปี พ.ศ. 2535 คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ ได้รับอนุมัติจากสถาบันฯ ให้เปิดภาควิชาดุริยางค์ขึ้นและดำเนินการเรียนการสอนเป็นสายวิชาชีพ (สายศิลปิน) ทำการสอน ณ อาคารตึกบริหารธุรกิจ ถนนวิภาวดีรังสิต ดำเนินการเรียนในหลักสูตรศิลปบัณฑิต (ดนตรีสากล) ชื่อย่อ ศบ. (ดนตรีสากล) พ.ศ. 2539 ภาควิชาดุริยางค์ ได้ย้ายจากอาคารตึกบริหารธุรกิจ ถนนวิภาวดีรังสิต มาทำการเรียนการสอน ณ อาคารนาฏศิลป์และดุริยางค์ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรได้เปิดการเรียนการสอนสายวิชานาฏศิลป์ของกรมศิลปากรและได้ขอถอนการเข้าสมทบกับสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ ภาควิชานาฏดุริยางค์คีตศิลป์ศึกษาจึงย้ายนักศึกษาเข้ามาศึกษารวมกับภาควิชาดุริยางค์ ณ อาคารนาฏศิลป์และดุริยางค์ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เเละปีพ.ศ. 2549 คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ ได้รวมหน่วยงานเข้ากับคณะศิลปกรรม และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะศิลปกรรมศาสตร์” ซึ่งภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ได้ก่อตั้งขึ้นในระยะนี้เเละจัดการเรียนการสอนเป็น 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา (สายครู) สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา (สายครู) สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์สากลศึกษา (สายครู) เเละสาขาวิชาดนตรีสากล (สายศิลปิน)


ในปี พ.ศ.2566 สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษาได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรขึ้นใหม่เเละได้เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาเป็น “สาขาวิชาดนตรีไทย” โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะสาระดนตรี ได้ปรับตัวสู่การส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลกอีก และเป็นการเตรียมเยาวชน ให้เป็นพลเมืองที่มีความพร้อมในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยการผลิตครูวิชาชีพเพื่อกำลังคนในศตวรรษที่ 21 และตอบสนองต่อสถาบันการศึกษาทั้งรัฐบาลและเอกชน สถานประกอบการเกี่ยวกับ การจัดการแสดงทางด้านดนตรีไทย มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมทางการศึกษาทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการศึกษาให้มากขึ้น สาขาวิชาดนตรีไทยจัดการเรียนการสอนตามวิชาเอก เเบ่งออกเป็น 3 วิชาเอก คือ วิชาเอกปี่พาทย์ วิชาเอกเครื่องสายไทย เเละวิชาเอกคีตศิลป์ไทย และรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป



(ที่มา : คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี)