ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย


นับตั้งแต่ไทยได้มาตั้งถิ่นฐานในแหลมอินโดจีน และได้ก่อตั้งอาณาจักรไทยขึ้น จึงเป็นการเริ่มต้น ยุคแห่งประวัติศาสตร์ไทย ที่ปรากฎ หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ เมื่อไทยได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และหลังจากที่ พ่อขุนรามคำแหง มหาราช ได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว นับตั้งแต่นั้นมาจึงปรากฎหลักฐานด้าน ดนตรีไทย ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งในหลักศิลาจารึก หนังสือวรรณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์ ในแต่ละยุค ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการพิจารณา ถึงความเจริญและวิวัฒนาการของ ดนตรีไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นต้นมา จนกระทั่งเป็นแบบแผนดังปรากฏ ในปัจจุบัน

สมัยสุโขทัย

ดนตรีไทย มีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่นกันอย่างพื้นเมือง เกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทย ในสมัยนี้ ปรากฎหลักฐานกล่าวถึงไว้ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดี ที่แต่งในสมัยนี้ ได้แก่ แตร, สังข์, มโหระทึก, ฆ้อง, กลอง, ฉิ่ง, แฉ่ง (ฉาบ), บัณเฑาะว์ พิณ, ซอพุงตอ (สันนิษฐานว่าคือ ซอสามสาย) ปี่ไฉน, ระฆัง, และ กังสดาล เป็นต้น ลักษณะการผสม วงดนตรี ก็ปรากฎหลักฐานทั้งในศิลาจารึก และหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง “เสียงพาทย์ เสียงพิณ” ซึ่งจากหลักฐานที่กล่าวนี้ สันนิษฐานว่า วงดนตรีไทย ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ

สมัยกรุงสุโขทัย ดนตรีไทย มีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่นกันอย่างพื้นเมือง เกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยในสมัยนี้ปรากฎหลักฐานกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดี ที่แต่งในสมัยนี้ ได้แก่ แตร, สังข์, มโหระทึก, ฆ้อง, กลอง, ฉิ่ง, แฉ่ง (ฉาบ), บัณเฑาะว์ พิณ, ซอพุงตอ (สันนิษฐานว่าคือ ซอสามสาย) ปี่ไฉน, ระฆัง, และ กังสดาล เป็นต้น

ลักษณะการผสม วงดนตรี ก็ปรากฎหลักฐานทั้งในศิลาจารึก และหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง “เสียงพาทย์ เสียงพิณ” ซึ่งจากหลักฐานที่กล่าวนี้สันนิษฐานว่า วงดนตรีไทย ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ

1. การบรรเลงพิณ การบรรเลงพิณ เป็นการบรรเลงเพียงคนเดียว ประกอบกับการขับลำนำซึ่ง ผู้ดีดเป็นคนขับลำนำเอง พิณที่ใช้ดีดสันนิษฐานว่าเป็นพิณเปี๊ยะ (ทางเหนือ)หรือ พิณน้ำเต้า (เขมร,การแพร่กระจาย)หรือ กระจับปี่ (เขมร,การแพร่กระจาย ) หรือ ซึงการบรรเลงพิณประกอบการขับลำนำนี้ใช้เนื้อร้องที่มีคำกลอนในเชิงสังวาสแสดงความรักใคร่ จึงมักจะใช้เกี้ยวสาวเป็นส่วนใหญ่

2. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้บรรเลง 3 คน คือ คนขับลำนำ 1 คน คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 1 คน และ คนไกว บัณเฑาะว์ ให้จังหวะ 1 คน มักใช้กับพิธีหลวงในสมัยนั้น เช่น พิธีสมโภชพระมหาเศวตรฉัตร พิธีสมโภชพระยาช้างเผือก

3. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่อง 5 มี 2 ชนิด คือ

วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา (ปี่พาทย์ชาตรี) ประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็ก ๆ จำนวน 5 ชิ้น คือ

1. ปี่
2. กลองชาตรี
3. ทับ (โทน)
4. ฆ้องคู่ และ
5. ฉิ่ง

ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ละครชาตรี (เป็นละครเก่าแก่ที่สุดของไทย)

วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก (ปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า) ประกอบด้วย เครื่องดนตรีจำนวน 5 ชิ้น คือ

1. ปี่ใน

2. ฆ้องวงใหญ่

3. ตะโพน

4. กลองทัด

5. ฉิ่ง

ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบการแสดงมหรสพต่างๆ เช่น โขน ละคร จะเห็นว่า วงปี่พาทย์เครื่องห้า ในสมัยนี้ยังไม่มีระนาดเอก

4. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่ง ที่นำเอาวงบรรเลงพิณ กับ วงขับไม้ มาผสมกัน เป็นลักษณะของวงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้บรรเลง 4 คน คือ

1. คนขับลำนำและตี กรับพวง ให้จังหวะ

2. คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง

3. คนดีดพิณ และ

4. คนตีทับ (โทน) ควบคุมจังหวะ

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับ ดนตรีไทย ในสมัยนี้ ในกฏมลเฑียรบาล ซึ่งระบุชื่อ เครื่องดนตรีไทย เพิ่มขึ้น จากที่เคยระบุไว้ ในหลักฐาน สมัยสุโขทัย จึงน่าจะเป็น เครื่องดนตรี ที่เพิ่งเกิดในสมัยนี้ ได้แก่ กระจับปี่ ขลุ่ย จะเข้ และ รำมะนา นอกจากนี้ในกฎมณเฑียรบาลสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) ปรากฎข้อห้ามตอนหนึ่งว่า “…ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ ดีดจะเข้ ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน…” ซึ่งแสดงว่าสมัยนี้ ดนตรีไทย เป็นที่นิยมกันมาก แม้ในเขตพระราชฐาน ก็มีคนไปร้องเพลงและเล่นดนตรีกันเป็นที่เอิกเกริกและเกินพอดี จนกระทั่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงออกกฎมลเฑียรบาล ดังกล่าวขึ้นไว้เกี่ยวกับลักษณะของ วงดนตรีไทย ในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาขึ้นกว่าในสมัยสุโขทัย ดังนี้ คือ

1. วงปี่พาทย์ ในสมัยนี้ ก็ยังคงเป็น วงปี่พาทย์เครื่องห้า เช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัย แต่มี ระนาดเอก เพิ่มขึ้น ดังนั้น วงปี่พาทย์เครื่องห้า ในสมัยนี้ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดังต่อไปนี้ คือ ระนาดเอก , ปี่ใน ,
ฆ้องวง (ใหญ่) , กลองทัด , ตะโพน , ฉิ่ง

2. วงมโหรี ในสมัยนี้พัฒนามาจาก วงมโหรีเครื่องสี่ ในสมัยสุโขทัยเป็นวงมโหรีเครื่องหก เพราะได้เพิ่ม เครื่องดนตรี เข้าไปอีก 2 ชิ้น คือ ขลุ่ย และ รำมะนา ทำให้ วงมโหรี ในสมัยนี้ ประกอบด้วย เครื่องดนตรี จำนวน 6 ชิ้น (เรียก วงมโหรีเครื่อง 6) คือ ซอสามสาย , กระจับปี่ (แทนพิณ) , ทับ (โทน) , รำมะนา , ขลุ่ย , กรับพวง

สมัยกรุงธนบุรี

เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 15 ปี และประกอบกับเป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้าง
เมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมากวงดนตรีไทยในสมัยนี้จึงไม่ปรากฎหลักฐานไว้ว่า ได้มีการพัฒนาปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่ายังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของดนตรีไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

แต่มีเครื่องดนตรีของชาติต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยหลายชนิด ดังปรากฏในหมายกำหนดการของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์รามัญ มโหรีไทย ฝรั่ง มโหรีญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช 2 เดือนกับ 12 วัน” ในงานสมโภชพระแก้วมรกตเป็นต้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยนี้ เมื่อบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงคราม และได้มีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความสงบร่มเย็น โดยทั่วไปแล้วศิลปะวัฒนธรรมของชาติก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย ในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับดังต่อไปนี้ คือ

สมัยรัชกาลที่ 1 ดนตรีไทย ในสมัยนี้ส่วนใหญ่ ยังคงมีลักษณะและรูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้ก็คือ การเพิ่มกลองทัดขึ้นอีก 1 ลูก ใน วงปี่พาทย์ ซึ่ง แต่เดิมมา มีแค่ 1 ลูก พอมาถึง สมัยรัชกาลที่ 1 วงปี่พาทย์ มี กลองทัด 2 ลูก เสียงสูง (ตัวผู้) ลูกหนึ่ง และ เสียงต่ำ (ตัวเมีย) ลูกหนึ่ง และการใช้ กลองทัด 2 ลูก ในวงปี่พาทย์ก็เป็นที่นิยมกันมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้

สมัยรัชกาลที่ 2 อาจกล่าวว่าในสมัยนี้ เป็นยุคทองของ ดนตรีไทยยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะองค์พระมหากษัตริย์ ทรงสนพระทัย ดนตรีไทย เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีไทย ถึงขนาดที่ ทรงดนตรีไทย คือ ซอสามสาย ได้ มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อว่า “ซอสายฟ้าฟาด”

ทั้งพระองค์ได้พระราชนิพนธ์ เพลงไทย ขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ไพเราะ และอมตะ มาจนบัดนี้นั่นก็คือเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทย ในสมัยนี้ก็คือ ได้มีการนำเอา วงปี่พาทย์มาบรรเลง ประกอบการขับเสภา เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้น โดยดัดแปลงจาก “เปิงมาง” ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า “สองหน้า” ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง

สมัยรัชกาลที่ 3 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่

สมัยรัชกาลที่ 4 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ เครื่องดนตรี เพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด เลียนแบบ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม โดยใช้โลหะทำลูกระนาด และทำรางระนาด ให้แตกต่างไปจากรางระนาดเอก และระนาดทุ้ม (ไม้) เรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ ขนาดของ วงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

อนึ่งในสมัยนี้ วงการดนตรีไทย นิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับ หรือที่เรียกว่า “การร้องส่ง” กันมากจนกระทั่งการขับเสภาซึ่่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อย ๆ หายไป

การร้องส่งก็เป็นแนวทางให้มีผู้คิดแต่งขยายเพลง 2 ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง 3 ชั้น และตัดลง เป็นชั้นเดียว เรียกเพลงที่มีลักษณะแบบนี้ว่าเพลงเถา โดยเพลงเถาจะบรรเลงตั้งแต่อัตราจังหวะ 3 ชั้น 2 ชั้นและชั้นเดียว ตามลำดับ เช่น เพลงแขกบรเทศ เถา, เพลงกล่อมนารี เถา ฯลฯนับว่าเพลงเถาเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้ นอกจากนี้ วงเครื่องสาย ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน

สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า “วงปี่พาทย์ดึกดำรรพ์” โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง “ละครดึกดำบรรพ์” ซึ่งเป็น ละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน หลักการปรับปรุงของท่านก็โดยการตัดเครื่องดนตรีชนิดเสียงเล็กแหลมหรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล กับเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาใหม่ เครื่องดนตรี ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จึงประกอบด้วยระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ขลุ่ย ซออู้ ฆ้องหุ่ย (ฆ้อง 7 ใบ) ตะโพน กลองตะโพน และเครื่องกำกับจังหวะ

สมัยรัชกาลที่ 6 ได้การปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง โดยนำวงดนตรีของมอญมาผสมกับ วงปี่พาทย์ของไทย ต่อมาเรียกวงดนตรีผสมนี้ว่า “วงปี่พาทย์มอญ” โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้ปรับปรุงขึ้น วงปี่พาทย์มอญดังกล่าวนี้ ก็มีทั้งวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ เช่นเดียวกับ วงปี่พาทย์ของไทย และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ มาจนกระทั่งบัดนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการนำเครื่องดนตรีของต่างชาติ เข้ามาบรรเลงผสมกับ วงดนตรีไทย บางชนิดก็นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรีของไทย ทำให้รูปแบบของ วงดนตรีไทย เปลี่ยนแปลงพัฒนา ดังนี้ คือ การนำเครื่องดนตรีของชวา หรืออินโดนีเซีย คือ “อังกะลุง” มาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งนี้โดยนำมาดัดแปลง ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ 7 เสียง (เดิมมี 5 เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่น โดยถือเขย่าคนละ 2 เสียง ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้ กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนไทยสามารถทำอังกะลุงได้เอง อีกทั้งวิธีการบรรเลงก็เป็นแบบเฉพาะของเราแตกต่างไปจากของชวาโดยสิ้นเชิง การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมในวงเครื่องสายได้แก่ ขิมของจีน และออร์แกนของฝรั่ง ทำให้วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ “วงเครื่องสาย ผสม”

นอกจากนี้เป็นสมัยที่การละครและดนตรีเจริญรุ่งเรืองมาก ถือได้ว่าเป็นยุคทองของดนตรีไทย ตามวังเจ้านายและคหบดีต่างมีวงปี่พาทย์และครูที่มีภูมิรู้ประจำวงเกิดการพัฒนาด้านวิชาการดนตรี ทั้งแนวคิด หลักการ วิธีการ ตลอดจนเทคนิคการประพันธ์ มีการวางระบบการบรรเลงหลากหลายวิธีทั้งแบบพื้นฐาน การบรรเลงชั้นสูง และการบรรเลงเดี่ยว เกิดกลุ่มนักดนตรีในราชสำนัก กลุ่มนักดนตรีอาชีพ และกลุ่มนักดนตรีสมัครเล่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุงบรรดาครูดนตรีฝีมือดีให้กินอยู่ดีมีสุข พร้อมทั้งพระราชทานนามสกุล บรรดาศักดิ์ให้ด้วย

สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนพระทัยทางด้าน ดนตรีไทย มากเช่นกัน พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ เพลงไทยที่ไพเราะไว้ถึง 3 เพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น เพลงเขมรละออองค์ (เถา) และเพลงราตรีประดับดาว (เถา) พระองค์และพระราชินีได้โปรดให้ครูดนตรีเข้าไปถวายการสอนดนตรีในวัง แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ระยะเวลาแห่งการครองราชย์ของพระองค์ไม่นาน

เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ หลังจากนั้นได้ 2 ปี มิฉะนั้นแล้ว ดนตรีไทย ก็คงจะเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยแห่งพระองค์ อย่างไรก็ตามดนตรีไทยในสมัยรัชกาลนี้ นับว่าได้พัฒนารูปแบบ และลักษณะ มาจนกระทั่ง สมบูรณ์ เป็นแบบแผนดังเช่นในปัจจุบันนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชมีผู้นิยมดนตรีไทยกันมาก และมีผู้มีฝีมือ ทางดนตรี ตลอดจน มีความคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้ความอุปถัมภ์ และทำนุบำรุงดนตรีไทย ในวังต่าง ๆ มักจะมีวงดนตรีประจำวัง เช่น วงวังบูรพา วงวังบางขุนพรหม วงวังบางคอแหลม และวงวังปลายเนิน เป็นต้น แต่ละวงต่างก็ขวนขวายหาครูดนตรี และนักดนตรีที่มีฝีมือเข้ามาประจำวง มีการฝึกซ้อมกันอยู่เนืองนิจ บางครั้งก็มีการประกวดประชันกัน จึงทำให้ดนตรีไทยเจริญเฟื่องฟูมาก

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ดนตรีไทยเริ่มซบเซาลง อาจกล่าวได้ว่า เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ดนตรีไทยเกือบจะถึงจุดจบ เนื่องจากรัฐบาลในสมัยหนึ่งมีนโยบายทีเรียกว่า “รัฐนิยม” ซึ่งนโยบายนี้มีผลกระทบต่อดนตรีไทยด้วย กล่าวคือมีการห้ามบรรเลงดนตรีไทย เพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ใครจะจัดให้มีการบรรเลงดนตรีไทยต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน อีกทั้ง นักดนตรีไทยก็จะต้องมีบัตรนักดนตรีที่ทางราชการออกให้

จนกระทั่งต่อมาอีกหลายปี เมื่อได้มี การสั่งยกเลิก “รัฐนิยม” ดังกล่าวเสียแต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดนตรีไทยก็ไม่รุ่งเรืองเท่าแต่ก่อน ยังล้มลุกคลุกคลาน มาจนกระทั่งบัดนี้ เนื่องจากวิถีชีวิต และสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมวัฒนธรรมทางดนตรีของต่างชาติได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอันมาก ดนตรีที่เราได้ยินได้ฟัง และได้เห็นกันทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือที่บรรเลงตามงานต่างๆ โดยมากก็เป็นดนตรีของต่างชาติ หาใช่ “เสียงพาทย์ เสียงพิณ” ดังแต่ก่อนไม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่ายินดีที่เราได้มีโอกาสฟังดนตรีนานาชาตินานาชนิด แต่ถ้าดนตรีไทยถูกทอดทิ้ง และไม่มีใครรู้จักคุณค่าก็นับว่าเสียดายที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่งไป ดังนั้นจึงควรที่คนไทยทุกคนจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีไทย และช่วยกันทะนุบำรุงส่งเสริมและรักษาไว้ เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป

สมัยรัชกาลที่ 8 การดนตรีไทยในสมัยนี้เป็นสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมัยนี้“เป็นระยะที่ดนตรีไทยเข้าสู่สภาวะมืดมนเพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมดนตรีไทย และยังพยายามให้คนไทยหันไปเล่นดนตรีสากลแบบตะวันตก” ต่อมาก็เกิดรัฐนิยมขึ้น “ การที่มีรัฐนิยมเกิดขึ้น กล่าวคือ ห้ามการบรรเลงดนตรีไทย ด้วยเห็นว่าดนตรีไทยไม่เหมาะสมกับ
ชาติที่กำลังพัฒนา ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ จึงมีการห้ามโดยเคร่งครัด แต่ยังอนุญาตให้บรรเลงในงานพิธีหรือในบางประเพณี แต่จะต้องไปขออนุญาตที่กรมศิลปากรหรืออำเภอก่อนและต้องมีบัตรนักดนตรี ที่ทางราชการออกให้ จึงทำให้นักดนตรีหัวใจห่อใจเหี่ยวไปตาม ๆ กัน บางคนถึงกับขาย เครื่องดนตรีอันวิจิตรงดงาม เพราะถึงเก็บไว้ก็เปล่าประโยชน์ เครื่องดนตรีอันงดงามวิจิตร หลายชิ้นที่ถูกขายไปในรูปแบบของเก่า หรือขายต่อให้ต่างประเทศไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ยังมีนักดนตรีอีกไม่น้อยที่ไม่ยอมทิ้งดนตรีไทย เช่น หลวงประดิษฐ์ ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง) ยังคงแต่งเพลงต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เพลงเอกของท่านที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๘ เช่น แสนคำนึงเถา กราวรำเถา แขกเงาะ และแขกชุมพล เป็นต้น และอาจารย์ มนตรี ตราโมท ก็หันมาประดิษฐ์เพลงระบำมากขึ้น ซึ่งเพลงไทยในระยะนี้ มีผู้นำทำนองเพลงไทยมาใส่เนื้อร้องเต็มตามทำนองบ้าง แต่งขึ้นเองบ้าง เพื่อประกอบละครพูด ละครประวัติศาสตร์ และภาพยนตร์ ผู้แต่งมีหลายท่าน เช่น พรานบูรณ์ หลวงวิจิตรวาทการ ล้วน ควันธรรม ฯลฯ สำหรับหลวงวิจิตรวาทการร่วมกับอาจารย์มนตรี ตราโมทแต่งเพลงประกอบบทละครประวัติศาสตร์หลายเพลง เช่น เพลงเพื่อนไทย ใต้ร่มธงไทย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ฯลฯ เพลงเหล่านี้ มีลักษณะเป็นแบบตามใจผู้แต่ง จะเป็นเพลงไทยก็ไม่ใช่ เพลงฝรั่ง ก็ไม่ใช่ การแต่งเพลงของหลวงวิจิตรวาทการแต่งโดยใช้จินตนาการของตนเองบ้าง บางเพลงก็นำทำนองของฝรั่งมาใส่เนื้อไทยบ้าง เช่น ภาพเธอ นักแต่งเพลงอื่น เช่น พรานบูรณ์ มีจุดมุ่งหมาย ของการแต่งเพลงเพื่อนำไปประกอบภาพยนต์ ละคร เพลงที่แต่งจึงพยายามให้เหมาะกับเนื้อเรื่องเป็นสำคัญ เช่น เพลงดูซิดูโน่นซิ เพลงร้อนแดด ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า เพลงในระยะนี้เป็นเพลง ที่ยังไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทฤษฎีตะวันตกอย่างแท้จริง ถึงอย่างไรก็ตาม ดนตรีไทยสมัยนี้ก็มิได้ซบเซาถึงขนาดจะขาดตอน เหมือนเมื่อครั้ง เราเสียกรุงศรีอยุธยา แม้จะซบเซาลงบ้างและเกิดเพลงไทยสากลขึ้น เพลงไทยสากลที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ก็ยังเอาเค้าของเดิมหรือเอาเพลงไทยของเดิมมาร้องเล่น เพียงแต่เปลี่ยนจังหวะให้กระชับขึ้นเป็นแบบฝรั่ง ของไทยแท้จึงไม่ถึงกับสูญและโชคดีที่ยุดนี้สั้นมาก มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกันบ่อยในที่สุด ดนตรีไทยแท้ก็กลับคืนมาอีกครั้ง

สมัยรัชกาลที่ 9
– มีการนำทำนองเพลงพื้นเมืองหรือเพลงไทยเดิมสองชั้น ชั้นเดียว มาใส่เนื้อร้องใหม่แบบเนื้อเต็มตามทำนอง เกิดเป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง

– พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้วงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงมาบรรเลงบันทึกเสียงออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิตเป็นประจำ เช่น คณะศรทองของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) คณะพาทยโกศล วงของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง และวงของนายมนตรี ตราโมท เป็นต้น บางครั้งพระองค์ทรงบันทึกเสียงกับวงดนตรีไทยด้วย เช่น วงของข้าราชบริพาร และวงเครื่องสายผสมของคณะแพทย์สมาคม (แพทย์อาวุโส) เป็นต้น

– พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์สมุดโน๊ตเพลงไทยออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2505

– พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัดความถี่ของเสียงดนตรีไทยเพื่อให้เป็นมาตรฐาน

– การสอนดนตรีไทยได้รับการส่งเสริมเข้าสู่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งในระดับประถมฯ มัธยมฯ จนถึงอุดมศึกษา มีการก่อตั้งชุมนุมดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาต่างๆ และมีการจัดประกวดวงดนตรีไทยในระดับต่างๆโดยภาครัฐและเอกชน

(หนังสือประวัติดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)